วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

6 เทคโนโลยีระดับโลก ที่ถูก "แบน"

อิสราเอล VS iPad




อาจจะเคยได้ยินข่าวที่ว่า ประเทศอิสราเอลมีการสั่งแบน iPad โดยให้เหตุผลว่าสัญญาณไร้สายของ iPad อาจจะไปรบกวนสัญญาณของเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ซึ่งก็ทำทำความลำบากให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากๆ เพราะใครที่นำ iPad เข้ามาในอิสราเอล จะถูกเจ้าหน้าที่ยึดเอาไว้ โดยจะต้องเสียค่าเก็บรักษา iPad วันละ 12 USD หรือวันละ 360 บาท และจะได้รับคืนเมื่อตอนเดินทางออกจากอิสราเอลเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็สร้างความไม่พอใจให้แก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก จนในที่สุดอิสราเอลก็ได้ประกาศยกเลิกการแบน iPad รวมถึงก็ได้มีการเปิดตัว iPad ในอิสราเอลอย่างเป็นทางการแล้วล่ะ



ออสเตรเลีย VS เลเซอร์


เวลาที่เราพรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียน บางคนอาจจะใช้ Laser Pointer หรือปากกาเลเซอร์แท่งเล็กๆ ชี้ไปยังจุดบนสไลด์ที่ต้องการเน้น หรือเวลาที่เราจะชี้ใครซักคนที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมากให้เพื่อนดู ก็อาจจะใช้ปากกาเลเซอร์นี้ชี้ไปที่คนๆ นั้นก็ได้ นั่นคือประโยชน์ของเลเซอร์ค่ะ แต่เมื่อปี 2008 ที่ประเทศออสเตรเลีย ทางรัฐบาลได้ออกมาสั่งห้ามใช้เลเซอร์ที่มีพลังสูงเด็ดขาด สาเหตุก็มาจากว่า ขณะที่เครื่องบินลำหนึ่งออกเดินทางจากเมืองแครนส์ไปยังซิดนีย์ ระหว่าทางได้ถูกโจมตีด้วยเลเซอร์กำลังสูงโดยมีผู้ไม่ประสงค์ดีได้ยิงแสงเลเซอร์เข้ามาทางห้องนักบิน ทำให้นักบินเกิดอาการวิงเวียนและมองไม่เห็นเส้นทางการบิน ซึ่งแน่นอนว่า หากนักบินไม่ชำนาญพอ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้


ปากีสถาน VS Facebook


เมื่อปีที่แล้ว สมาชิกกลุ่มหนึ่งใน Facebook ซึ่งเป็น Social Network ระดับโลก ได้จัดประกวดวาด ภาพ "Everybody Draw Muhammad Day!" ซึ่งก็คือการประกวดวาดภาพล้อเลียนท่านนบีมูฮัมมัดซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาอิสลามที่ชาวปากีสถานนับถือ ทำให้ชาวปากีสถานกลุ่มหนึ่งไม่พอใจมากที่ Facebook ละเลยและปล่อยให้มีการประกวดอะไรแบบนี้ ในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชาวปากีสถานได้ตั้งกลุ่มประท้วง Facebook และนำเรื่องเข้าสู่ศาล ในที่สุดศาลปากีสถานได้มีคำสั่งบล็อก Facebook ทั่วประเทศปากีสถานด้วยข้อหามีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ของ Facebook ได้ออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปากีสถานจึงได้ทำการยกเลิกการบล็อก Facebook


อาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบีย VS Blackberry


เป็นอีกประเด็นที่มีคนกล่าวถึงอย่างมากในช่วงปีก่อน กับข่าวที่ว่าประเทศในตะวันออกกลางเช่น อาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบีย ได้ประกาศห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ Blackberry ในประเทศ สาเหตุก็มาจากว่า เวลาที่เราแชทบน Blackberry นั้น ไม่มีใครรู้ว่าข้อความต่างๆ ที่แชทนั้น มีแหล่งเก็บไว้ที่ไหน นับว่าเสี่ยงและอาจเป็นอันตรายต่อการเมืองและความปลอดภัยของประเทศ เพราะผู้ก่อการร้ายอาจจะสื่อสารกันผ่านการแชทบน Blackberry ก็เป็นได้


คิวบา VS โทรศัพท์มือถือ



ถ้าพูดถึงประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์สุดโต่งของโลก 2 ประเทศที่จะต้องผุดขึ้นมาในความคิดก็คือเกาหลีเหนือและคิวบา และอาจจะเป็นความโชคดีของคนคิวบาก็ว่าได้ เพราะเมื่อสมัยที่ฟิเดล คาสโตรเป็นผู้นำประเทศนั้น เค้าได้ออกกฏข้อบังคับเพื่อควบคุมการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ หรืออาจจะเรียกได้ว่าสมัยก่อนนั้น คนคิวบาแทบไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ! จะมีใช้ก็แต่พวกคนระดับสูงหรือพนักงานบริษัทต่างชาติเท่านั้น แต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2008 ฟิเดล คาสโตรได้ลาออกจากตำแหน่งและให้ราอูล คาสโตร ผู้เป็นน้องชายขึ้นรับตำแหน่งผู้นำแทน โดยราอูล คาสโตรได้ทำการยกเลิกข้อบังคับควบคุมการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และแน่นอนว่า ในปี 2008 คือปีแรกที่คนคิวบาสามารถหาซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อนำมาใช้งานส่วนตัวได้



อเมริกา VS iPod


ในปี 2007 USA Track & Field ซึ่งเป็นสำนักงานของรัฐบาลอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับกีฬาประเภทวิ่ง ได้ออกกฏสั่งแบน iPod รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังเพลงต่างๆ ในการแข่งขันวิ่งทุกประเภท โดยให้เหตุผลว่า หากนักกีฬาวิ่งไปฟังเพลงไป อาจจะไม่ได้ยินเสียงคำสั่งจากรอบด้านและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่านักกีฬาและคนที่รักการออกกำลังกายออกมาแสดงความไม่พอใจกฏนี้ จนในปี 2008 USA Track & Field ได้ผ่อนผันกฏโดยอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ในการฟังเพลงได้เฉพาะในการแข่งขันรอบที่ไม่มีการเก็บคะแนน

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

อึ้ง !!! 4 พิพิธภัณฑ์ที่แปลกที่สุดในโลก

Meguro Parasitological Museum พิพิธภัณฑ์พยาธิ


แหม แค่ฟังชื่อก็น่าจับกิน ไม่ใช่ละ น่าขยะแขยงขนลุกกันเลยทีเดียว ! ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยล่ะคะว่าในโลกนี้จะมีพิพิธภัณฑ์อะไรแบบนี้ด้วย พิพิธภัณฑ์พยาธิ(แห่งเดียวในโลก) ที่ว่านี้ตั้งอยู่ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ในพิพิธภัณฑ์ก็จะมีจัดแสดงพยาธิปรสิตชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพยาธิในคนหรือสัตว์ ก็มีมาให้เลือกชิม เอ๊ย เลือกชมครบแทบทุกชนิด แถมมีของจริงให้ดูด้วย !! (แต่แช่อยู่ในขวดโหลนะ) และยังมีการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของโรคที่เกิดจากพยาธิและวิธีเลือกทานอาหารให้ถูกต้องปลอดภัยจากพยาธิ ใครชอบกินของสุกๆ ดิบๆ คงต้องหาโอกาสไปชมพิพิธภัณฑ์นี้กันหน่อยแล้วล่ะค่ะ

นอกจากนี้ก็ยังมีของที่ระลึกขาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กระเป๋า หรือที่ห้อยมือถือลายพยาธิในราคาที่ไม่แพงเกินไป ^^ ส่วนใครอยากไปชมนั้น ค่าเข้าชมฟรีค่ะ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า หลังจากไปมาแล้ว อาจจะกินถั่วงอกหรือพวกเส้นอูด้งราเม็งไม่ลงไปอีกนาน !

Museum of Bad Art พิพิธภัณฑ์งานศิลปะห่วย


ที่แห่งนี้มีคำขวัญประจำพิพิธภัณฑ์ว่า Art too bad to be ignored หรือแปลได้ง่ายๆ ว่า งานศิลปะบางอย่างถึงจะห่วย แต่ก็ไม่ควรที่จะเพิกเฉยหรือทิ้งไป จึงเป็นที่มาของการรวบรวมงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นที่สื่อออกมาในแง่แปลกๆ หรือใช้สีฉูดฉาดที่ไม่เข้ากัน รวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์งานศิลปะห่วยในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่เริ่มก่อตั้งในปี 1994 ผู้ก่อตั้งคือสกอตต์ วิลสัน เขารวบรวมงานศิลปะห่วยๆ ที่โดนลงทิ้งถังขยะ จนเพื่อนสนิทของเขาแนะนำให้ลองเก็บสะสมเอาไว้ จนในที่สุดผลงานจากขยะที่เขาเก็บได้ก็มีปริมาณมากพอที่จะนำมาจัดแสดง นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังได้มีการนำเอารูปวาดงานศิลปะเหล่านั้นมาสกรีนเป็นลายบนเสื้อยืดเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

Hair Museum พิพิธภัณฑ์เส้นผม

ในปี 1979 ช่างปั้นหม้อชาวตุรกีชื่อกาลิป ได้เกิดความคิดที่จะเก็บรวบรวมเส้นผมของผู้หญิงและตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาที่เมืองอวาโนส ประเทศตุรกี สาเหตุก็เนื่องมาจาก เค้าอยากให้มีคนสนใจพิพิธภัณฑ์เส้นผมแห่งนี้ เผื่อจะได้สนใจงานเซรามิคของเค้าด้วย(เข้าใจคิดแฮะ) จนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเส้นผมของผู้หญิงจากทั่วโลกมากกว่า 16,000 คน (จากคนเป็นๆ นะคะ ไม่ต้องกลัว 555) นักท่องเที่ยวบางคนเดินๆ ชมพิธภัณฑ์นี้อยู่ดีๆ ก็ลงทุนตัดผมของตัวเองกันตรงนั้นเพื่ออยากให้ผมของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์นี้บ้าง

นอกจากนี้กาลิปยังได้เปิดเกสต์เฮาส์ในบริเวณพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นที่พักให้แก่ผู้ที่สนใจที่จะชมพิพิธภัณฑ์เส้นผมนี้อย่างจริงๆ จังๆ โดยค่าพักอยู่ที่คืนละประมาณ 12-20 ยูโร ไม่ใช่เล่นๆ นะคะ เพราะในบางประเทศเช่น ฝรั่งเศส ถึงกับมีเอเจนซี่นายหน้าจัดทัวร์ไปชมพิพิธภัณฑ์นี้กันเลยทีเดียว



Sulabh International Museum of Toilets พิพิธภัณฑ์ห้องส้วม

พิพิธภัณฑ์ส้วมแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย มองเผินๆ นี่หลายคนอาจจะนึกว่าเป็นร้านขายสุขภัณฑ์อะไรทำนองนั้น แต่ที่นี่เค้ารวบรวมโถส้วมและชักโครกแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายๆ แบบจากทั่วโลก โดยผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ด็อกเตอร์ Bindeshwar Pathak เป็นหนึ่งในอาสาสมัครของมูลนิธิ NGO ของอินเดีย เขามีความสนใจที่จะศึกษาและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบส้วมที่แตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรมของประเทศ จนเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั่นเองค่ะ ซึ่งด็อกเตอร์ Bindeshwar Pathak กล่าวว่าพิพิธภัณฑ์ส้วมแห่งนี้ก็ไม่ต่างจากห้องเรียนดีๆ นั่นเองค่ะ เพราะเด็กนักเรียนที่มาชมจะได้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของส้วม องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จะสามารถเข้าใจถึงวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของชนชาติต่างๆ ในอดีตว่าใช้ชีวิตกันยังไง รวมถึงผู้สนใจทั่วไปหากได้มาชมพิพิธภัณฑ์นี้ อาจได้ไอเดียใหม่ๆ ในการตกแต่งห้องน้ำก็เป็นได้ (ขนาดนั้นเลยทีเดียว)