วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ตลาดแนชมาร์ก (Naschmarkt)

การเดินทางทัวร์ชิมอาหารทั่วโลกนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 80 วัน หากแต่ต้องการเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นเมื่อคุณแวะมาที่ตลาดแนชมาร์กของเวียนนา


ชาวเมืองเวียนนาเรียกที่นี่ว่าเป็น “ปากท้องของเมือง” ตลาดแนชมาร์กมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และยังคงเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองเวียนนา ตลาดแห่งนี้เปิดทำการตั้งแต่วันจันทร๋ถึงเสาร์เพื่อให้ผู้คนได้มาเดินเล่น เลือกชม ค้นพบและลิ้มลองอาหารนานาชนิด คุณสามารถหาซื้อทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาหารได้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ผัก เนื้อ ปลา ขนมปัง หรือชีส นอกจากนี้ยังมีอาหารสำเร็จรูปซึ่งเป็นที่โปรดปรานทั้งหลายอย่างเช่น คาร์เวียของเปอร์เซีย ซูชิ หอยนางรม นี่ยังไม่รวมถึงอาหารนานาชาติที่จัดแสดงไว้อย่างมีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะจากยูโกสลาเวียในอดีต กรีซ ตุรกี ญี่ปุ่นและจีน และถ้าหน้าตาน่ารับประทานของอาหารเหล่านี้ทำให้ท้องคุณเกิดหิวขึ้นมาล่ะก็ คุณสามารถเลือกเข้ารับประทานในร้านอาหารต่างๆของตลาดแนชมาร์กได้ทันที และในวันเสาร์ อย่าลืมมาเที่ยวชมตลาดนัดที่ดังที่สุดของเวียนนา ที่นี่มีของมือสองและของถูกมากมายให้เลือกซื้อ ตลาดนัดแห่งนี้จัดอยู่ถัดจากตลาดแนชมาร์กไปทางขวามือนี่เอง

กรุงเวียนนา


เมืองหลวงของออสเตรียสามารถผสมผสานประเพณีของราชวงศ์ตั้งแต่ยุคอดีตให้เข้ากับสิ่งก่อสร้างโมเดิร์นอันน่าตื่นตาตื่นใจได้อย่างลงตัว เมืองนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของงานแสดงทางวัฒนธรรม สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ บรรดาร้านกาแฟ โรงไวน์ที่มีบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง รวมถึง มนเสน่ห์แบบชาวเวียนนิส นอกจากนั้นเวียนนายังเป็นเมืองใหญ่ที่สนับสนุนให้มีความเขียวชอุ่มแม้กระทั่งใจกลางเมืองซึ่งหาได้ยากในเมืองใหญ่อื่นๆของโลก บรรดาสวนต่างๆช่วยทำให้เมืองนี้ชุ่มชื่นขึ้น และคุณยังสามารถเดินเล่น ไต่เขา หรือทัวร์ปั่นจักรยานได้ในบริเวณใกล้ๆ Prater ป่าเวียนนาและที่พักผ่อนหย่อนใจบริเวณ Lobau

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รู้ไว้จะได้ระวัง "โรคไฟโบรมัยอัลเจีย"

หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักโรคร้าย "ไฟโบรมัยอัลเจีย" ซึ่งเป็นโรคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น … สำหรับโรคดังกล่าวนั้นเพิ่งมีการศึกษาและสำรวจถึงจำนวนผู้ป่วยและลักษณะของโรคเมื่อไม่นานมานี้


โดยในช่วงปลายเดือนต.ค. ปีที่ผ่านมา บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานสัมมนาที่ห้องประชุม เบฟเวอรี่ ฮิลล์ โรงแรมคอนราดกรุงเทพฯ เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดจาก "โครงการการสำรวจแนวโน้มและความตระหนักรู้เกี่ยวกับ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เพื่อนำเสนอโรคไฟโบรมัยอัลเจียให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น


โดยในการประชุมครั้งนี้ ดร.เฮนรี่ ลู หัวหน้าประจำคลินิกควบคุมความปวด มาคาติ ณ ศูนย์การแพทย์มาคาติ ฟิลิปปินส์ อธิบายอาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจียว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังและลุกลามไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ระดับอาการปวดเทียบได้เกือบเท่ากับระดับของการปวดในไมเกรน ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวอยู่ถึง 40 ล้าน และผู้ป่วยบางคนไม่ทราบว่าตนนั้นป่วยเป็นโรคนี้อยู่


"อาการปวดจากโรคไฟโบรมัยอัลเจีย มีเอกลักษณ์อยู่ตรงที่อาการปวดจะค่อยๆ แผ่ขยายออกไปตามร่างกายของผู้ป่วย ข้อมูลจากการวิจัยในผู้ป่วยในประเทศสหรัฐ พบว่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ในบางรายที่เป็นหนักถึงขั้นชา และนอนไม่หลับ เป็นต้น" ดร.ลู กล่าว

และจากข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สาเหตุของโรคมาจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้ความเจ็บปวด ซึ่งอาจเป็นส่วน "ทาลามัส" ทำงานไวผิดปกติเพราะปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม เคยบาดเจ็บอย่างรุนแรง หรือเกิดจากปัจจัยแวดล้อม เช่น เคยถูกทารุณกรรม เมื่อเป็นหนักเข้าจะทำให้ผู้ป่วยสุขภาพร่างกายและจิตใจถดถอยลง บางรายถึงขั้นเสียสติ เพราะทนอยู่กับอาการป่วยมานานและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคดังกล่าวนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า ไม่ควรตื่นตระหนก ให้ไปพบแพทย์ที่ไปพบอยู่ประจำ เพราะแพทย์จะรู้ประวัติผู้ป่วยซึ่งมีความสำคัญมากในการใช้ประกอบการวินิจฉัย แล้วจึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ไปตามขั้นตอน

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การให้ช็อกโกแลตในแดนปลาดิบ เกิดขึ้นเมื่อไรนะ

ถึงแม้ว่าเทศกาลวาเลนไทน์จะเป็นเทศกาลที่เราได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นเทศกาลที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ให้ความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างในประเทศญี่ปุ่นนั้น เทศกาลวาเลนไทน์ถือว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญมากๆ สำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะสำหรับสาวๆ ด้วยแล้วล่ะก็ วันวาเลนไทน์ถือว่าเป็นวันที่เปิดโอกาสให้แสดงความรู้สึกที่มีต่อหนุ่มๆ ด้วยการมอบช็อกโกแลตเทนใจให้ …


โดยที่มาของการให้ช็อกโกแลตนั้นเกิดขึ้นในปี 1938 บริษัทช็อกโกแลตชื่อ Morozoff คิดเคมเปญในการขายช็อกโกแลต โดยทำเอาธรรมเนียมการส่งของขวัญในวันวาเลนไทน์มาเผยแพร่ โดยโฆษณาว่า วันวาเลนไทน์ เป็นวันแห่งความรัก ควรจะมอบของขวัญให้แก่คนรัก และออกแคมเปญให้มอบช็อกโกแลตเป็นของขวัญ ในเวลานั้นโฆษณาดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าควร สินค้าที่ขายดีเป็นเพียงชอกโกแลตชั้นเล็ก ราคา 3 ชิ้น 50 เยน เท่านั้น


แต่หลังจากนั้นในปีปี 1958 ร้าน Mary's Chocolate นำแคมเปญนี้มาใช้อีกครั้ง และโฆษณาว่า ให้สาวๆ มอบชอกโกแลตเป็นของขวัญให้ผู้ชายกันเถอะ เหตุผลที่โปรโมทว่าให้ผู้หญิงเป็นผู้มอบช็อกโกแลตนั้น เพราะว่าแคมเปญจัดที่ห้างอิเซตันลูกค้าส่วนใหญ่ของห้างนี้เป็นผู้หญิง ในงานนี้มีการผลิตช็อกโกแลตรูปหัวใจ และรูปอื่นๆ ที่สวยงามเหมาะกับการให้เป็นของขวัญ แคมเปญนี้จัดขึ้นทุกปี จนบริษัทอื่นๆ ทำตาม

และในปี 1970 สมาคมช็อกโกแลตและโกโก้ของญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มักจะมีการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งเป็นชมรมหรือสมาคมเพื่อให้มีอำนาจต่อรองทางการค้า) ได้ประกาศให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันแห่งช็อกโกแลตซึ่งก็สอดคล้องกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์


ดังนั้นประเพณีให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ของญี่ปุ่น จึงมีต้นกำเนิดมาจากกลยุทธการตลาดของบริษัทขนมนั่นเองค่ะ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ธรรมเนียมนี้ได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนานก็คงเป็นเพราะว่าชาวญี่ปุ่นชอบการให้และรับของขวัญอยู่แล้ว และชอบมากที่จะมีอาหารพิเศษในเทศกาลต่างๆ ดังนั้น แคมเปญนี้เรียกว่าจัดได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)

ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งจิตวิทยา
เขาเกิดวันที่ 6 พฤษภาคม 1856 ในครอบครัวที่มีอาชีพขายขนสัตว์ เมื่ออายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวก็ได้ย้ายจากเชโกสโลวะเกียไปอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย


ฟรอยด์ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เขาฉลาดและสอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาสอบเข้าศึกษาต่อวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนาได้ หลังจากเรียนจบเขาได้ค้นคว้าต่อทางด้านเซลล์สมอง และได้ไปศึกษาเกี่ยวกับโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับชาร์โก ซึ่งเป็นหมอรักษาคนไข้ที่เป็นอัมพาตอยู่นั่น ปรอยด์ได้พบว่าคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ทางร่างกาย เมื่อกลับมายังกรุงเวียนนา เขาตัดสินใจทำงานเป็นแพทย์ทางด้านสมองและประสาท และแต่งงานกับมาร์ธา เบิร์นเนย์ จนมีลูกด้วยกันถึง 6 คน

ฟรอยด์ได้พบคนไข้ที่เป็นอัมพาตเนื่องจากปัญหาทางจิตใจหลายราย เขาจึงใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ คือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้น เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฎว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากการอัมพาตเมื่อรักษาด้วยวิธีนี้

ในตอนแรก มีผู้คัดค้านไม่ยอมรับ แต่ฟรอยด์ก็ได้ศึกษาและทดลอง จนผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับทั่วไปในปี 1930

ฟรอยด์เป็นทั้งแพทย์และนักจิตวิทยา เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาทางด้านจิตวิทยา ทฤษฎีต่างๆ ของเขาที่ค้นพบยังคงนำมาใช้รักษาโรคทางจิตอยู่ทุกวันนี้ เช่น ทฤษฎีบุคคลิกภาพแบบจิตวิเคราะห์ ซึ่งกล่าวว่า พลังจิตใต้สำนึกมีผลต่อพฤติกรรมของแต่ละบุคคล และจำแนกบุคคลให้แตกต่างกัน

ในปี 1938 กองทัพนาซีของเยอรมัน เข้ายึดครองออสเตรีย ฟรอยด์ต้องหลบหนีไปอยู่ที่อังกฤษและถึงแก่กรรมในวันที่ 27 สิงหาคม 1939 ด้วยโรคมะเร็งและมีอายุได้ 83 ปี

ฟรอยด์เชื่อว่าจิตประกอบด้วยพลังจิต 3 ส่วนคือ
- อิด (Id) = เป็นแรงขับให้เกิดความต้องการ เช่น ความหิว ความรัก เป็นต้น
-อีโก (Ego) = เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ
-ซูเปอร์อีโก (Super Ego) = เป็นส่วนที่ได้รับการอบรมแล้ว รู้จักรับผิดชอบ รู้จักควบคุมอารมณ์และความรู้สึก

ระวังเชื้อโรคจากสบู่เหลวในห้องน้ำ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะคะว่าสบู่เหลวในห้องน้ำชนิดที่ต้องเปิดฝาเติมน้ำสบู่อยู่เรื่อยๆ มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ด้วย โดยมหาวิทยาลัย อริโซนา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มีการทำการวิจัยงานเพื่อหาเชื้อปนเปื้อนที่แฝงอยู่ในสบู่ในห้องน้ำสาธารณะ ทั้งร้านอาหาร ฟิตเนส อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า




โดยการวิจัยดังกล่าวได้มีการเก็บตัวอย่างสบู่จำนวน 541 ตัวอย่าง ทั้งสบู่เหลวแบบเติมและสบู่เหลวแบบบรรจุภัณฑ์ปิด (เมื่อใช้น้ำยาหมดแล้วทิ้ง) ซึ่งพบว่า สบู่ชนิดกล่องที่ติดผนังห้องน้ำที่ต้องเปิดฝาเติมน้ำสบู่อยู่เรื่อยๆ มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ถึงร้อยละ 25 จาก 133 ตัวอย่าง โดยร้อยละ 65 ของเชื้อที่พบคือเชื้อโคลิฟอร์ม ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบมากในสิ่งปฏิกูลของสัตว์เลือดอุ่นและมีโอกาสส่ง ผลกระทบโดยตรงต่อสุขอนามัยของผู้ใช้ได้ ทั้งในระบบทางเดินหายใจ กระแสโลหิต ระบบปัสสาวะ และการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง สิ่งปนเปื้อนเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่มีการเปิดฝากล่องเพื่อเติมสบู่ แต่สบู่เหลวที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบปิดกลับไม่พบเชื้อแบคทีเรียเลย


นอกจากนี้ จากการวิจัยของวารสารสาธารณสุขอเมริกันปี 2544 พบว่า การล้างมือและเช็ดมืออย่างถูกวิธีอย่างน้อย 5ครั้งต่อวัน สามารถช่วยลดโอกาสติดเชื้อหวัดได้ถึงร้อยละ 45 ทั้งนี้จากการศึกษางานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า การใช้กระดาษเช็ดมือทุกครั้งหลังการล้างมือจะช่วยให้แบคทีเรียลดลงถึงร้อยละ 58 ในขณะที่การใช้เครื่องเป่าลมร้อนกลับพบแบคทีเรียในมือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25